“Early Syndrome”

. . .
เมื่อครู่เพิ่งกดโทรศัพท์วางหูจากเพื่อนครับ ปลายทางรายนี้โทรฯ มาบอกว่า “เรื่องที่คุยกันวันก่อน มันเป็นจริงแล้ว นี่…ถ้าไม่สังเกตไม่รู้นะ” ผมได้แต่เออออฟังคุณเพื่อนบ่นเรื่องโน่นเรื่องนี้ต่างๆ นานา ผิดกลับครั้งก่อนที่ผมเองเป็นคนพูดอยู่ฝ่ายเดียว เพื่อนได้แต่ฟังและพยักหน้า “อืม-อืม”
เราคุยกันเรื่อง “Early Syndrome” ครับ อย่าเพิ่งทำหน้างงแล้วพาลไม่อ่านต่อนะครับ เพราะเรื่องนี้สำคัญมากและเกี่ยวกับพวกเราทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เครื่องมือสื่อสารไฮเทคทุกชนิด เอาเป็นว่าถ้าคุณมีอีเมล์หรือชอบส่ง SMS มันก็เกี่ยวกับคุณแล้ว ไม่แน่ว่าตอนที่คุณอ่านคอลัมน์นี้อยู่ คุณก็อาจอยู่ในกลุ่มอาการ Early Syndrome อยู่ก็ได้ บรรทัดต่อไปเป็นรายละเอียดและวิธีตรวจอาการอย่างคร่าวๆ ที่สำคัญบอกไว้ก่อนว่าโรคนี้ ยุคนี้ถ้าเป็นแล้วไม่มีทางรักษาให้หายขาด (!)
“Early Syndrome” คำนี้ฟังดูทั้งคุ้นและไม่คุ้นใช่ไหม Early Syndrome ไม่ใช่ Down Syndrome โรคที่เกิดจากพันธุกรรมความผิดปรกติของโครโมโซมที่ทำให้ทารกที่เกิดมาตาเฉียง จมูกแบน อย่างนั้นนะครับแต่ Early Syndrome เป็นโรคของคนยุคสมัยใหม่ที่อยู่ตามเมโทรหัวเมืองใหญ่ของโลก (กรุงเทพฯก็ใช่)
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น Early Syndrome เป็นโรคที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยสุดๆ ส่งให้คนเราสะดวกสบายทุกอย่าง แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ประชากรในเครือข่าย “รอคอยอะไรไม่เป็น” กระวนกระวาย ร้อนรน รีบเร่งไปต่างๆ นานา
ยกตัวอย่างเรื่องรอบตัวๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ตลอดจนการจราจรในโลกไซเบอร์ ทุกอย่างกำลังเคลื่อนที่เข้าไปในคอนเซ็ปต์ Faster to Fastest (เร็วกว่า แรงกว่า ถึง เร็วที่สุด ) แน่นอนปัจจุบันและอนาคตเรากำลังจะมีชิพประมวลผลคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเร็วขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่คุณซื้อวันนี้ พรุ่งสายๆ ก็ตกรุ่น (ทั้งที่เมื่อก่อนอินเทลเคยประกาศบอกว่า ชิพประมวลผลคอมพิวเตอร์จะมีความเร็วขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัวเมื่อเวลาผ่านไป 18 เดือน คำพูดนี้ผมได้ยินก่อนยุค Y2K โน่น)
หรือระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เมื่อทศวรรษก่อนเรามีโมเด็มที่รันได้ 56 Kbps ก็ถือว่าหรูแล้ว แต่ปัจจุบันทุกบ้านโละมาใช้ ADSL ไฮสปีดอินเตอร์เน็ตที่ระดับชิลล์ ชิลล์ ก็ต้อง 512 kbps ทิ้งของเก่าไปอย่างไม่ดูดำดูดี จะมีใครหวนกลับไปต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วระดับนั้นอีกละ ลองถามใจตัวเองดู
“Slow is Lost in Forever” “ความล่าช้ากำลังจะสูญพันธ์ไปตลอดกาล” เพราะเทคโนโลยีกำลังบดขยี้สิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา ผมเคยอ่านเจอประโยคนี้ในบทบรรณาธิการนิตยสาร Wired สิ่งพิมพ์สุดเดิร์นด้านนวัตกรรมและไอทีเล่มสำคัญของโลก
หมาดๆ เมื่อหัวค่ำผมเข้าไปเตร็ดเตร่ในโลกไซเบอร์เหมือนทุกวัน เจอหลายกระทู้ที่ชื่นชม Youtube.com รวมไปถึงนิตยสารไทม์ที่ยกย่องให้ You หรือผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นบุคคลแห่งปี 2006 แต่เคยมีใครคิดอีกด้านไหมว่า “ศัตรูที่จะมาฆ่า Youtube อย่างเงียบๆ ก็คือ ความรีบเร่ง”
เพื่อนผมหลายคนไม่อาจทนรอคอยให้การดาวน์โหลดสมบูรณ์เพื่อดูคลิปเหล่านั้น พวกเขามักจะปิดไปก่อนพร้อมบอกว่า Very Very Slow ! หรือช้าโคตรๆ นั่นไงครับ คือ การป่วยเป็น Early Syndrome คนสมัยนี้เป็นอะไรที่รอไม่ได้ มากกว่านั้นโรคนี้ยังรุกลามและระบาดหนัก ก็คุณเพื่อนผมที่โทรฯ มาเมื่อ 15 นาทีที่แล้วตอนต้นบทความ เขาบอกว่าเมื่อเย็นกำลังเคลียร์กับคุณแฟนเรื่องรับโทรศัพท์ช้า เขาปล่อยให้เธอรอนานหลายตุ้ด โทรฯมาไม่ยอมรับสักที ให้ฟังแต่เพลงรอสายเดิมๆ ทั้งที่เขารับช้าไปแค่ 1 นาทีเศษ (การรอใครให้มารับสายในเวลานาทีเศษก็ถือว่านานมากเลยสำหรับการโทรฯหาใครสักคนในชั่วโมงนี้)
จากเรื่องนี้ผมตั้งคำถามเล่นๆ ว่า ทำไมคนเมืองถึงเคลื่อนชีวิตกันเร่งรีบเต็มสปีดกันขนาดนี้ พวกเขาต้องการอะไรที่ตอบสนองได้รวดเร็ว ส่ง SMS เข้ารายการทีวีก็ต้องขึ้นให้เห็นเดี๋ยวนี้นะ! ตามหน้าโฆษณาสินค้าก็ต่างพร้อมใจกันระบุคุณสมบัติที่บอกว่า สะดวก - รวดเร็วกว่า- ง่ายดาย- ทันใจ ฯลฯ ทั้งนี้ก็เป็นกลุ่มคำที่ว่าด้วย “การไปถึงความสำเร็จรูปอย่างเร่งด่วน” ทุกวันนี้แม้แต่บะหมี่สำเร็จรูปก็ชงทานได้ใน 2 นาที เส้นก็จะเหนียวนุ่ม รสชาติกลมกล่อม อีก 6 เดือนข้างหน้าอาจหดสั้นเหลือแค่นาทีครึ่งจนครึ่งนาทีก็เป็นได้
ให้ท้ายกันเข้าไปเถอะครับ นี่แหละตัวอย่างของสังคม Early Syndrome เอาง่ายๆ ว่าถ้าคุณกดปุ่มเรียกลิฟต์ซ้ำหลายๆ ครั้งทั้งที่กดไปแล้ว
อ่าว…ถ้าถามว่าแล้วมันจะมีผลอะไรกับชีวิตมากไหมถ้าเป็นไอ้โรคนี้ ก็ตอบว่า มันจะทำให้คุณไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่ช้ากว่าเดิมได้อีกแล้ว และคุณต้องเพียรหาสปีดที่เร็วขึ้นๆ ให้กับชีวิตผ่านเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ หรือระบบต่างๆ Life in The fast Lane อยู่ตลอดเวลา“ เหนื่อยไหม สิ่งที่เธอทำอยู่” ผมคิดถึงเพลงพี่เบิร์ดขึ้นมาตะหงิดๆ ฮิฮิ
แต่บทความนี้ก็ไม่ได้ใจร้ายปล่อยเกาะผู้อ่านหรอกนะครับ เมื่อแจ้งให้ทราบในฐานะที่คุณตกอยู่ในสถานการณ์ Early Syndrome เราก็มีข้อความสั้นๆ ปรัมปรา ที่จะจบใน
ย่อหน้านี่ว่า “Very Good Things Come to Those Who Wait”
สิ่งที่(โคตรจะ)ดีมักมาถึงคนที่รอได้
. . .
Post by buiberry