THE KULTURES

Culture / Tech / Talks /

Friday, October 20, 2006

ความผิดปกติในชีวิตประจำวัน (อันน่าเบื่อหน่าย)


เย็นวันหนึ่ง ที่ฝนตั้งท่าว่าจะตก แต่ไม่ตก
ผมตั้งคำถามกับชีวิตของตัวเองและเผื่อแผ่ไปยังชีวิตคนอื่นด้วยว่า เราพอใจกับชีวิตปกติประจำวันของตัวเรามากแค่ไหน

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน มนุษย์ฟรีแลนซ์ มนุษย์ไม่ทำอะไรเลย ยอดมนุษย์ หรืออมนุษย์ก็ตาม ทุกคนต่างก็ต้องมีวงจรชีวิตที่ซ้ำซาก น่าเบื่อหน่ายในแบบของตัวเอง (แม้สิ่งที่บางคนทำในแต่ละวัน จะสุดแสนพิสดารหรือหวาดเสียว แต่พอทำไปบ่อยๆ เข้า ความเสียวสยองก็กลายเป็นความน่าเบื่อได้เหมือนกัน) เพราะการใช้ชีวิตซ้ำไปซ้ำมาในแต่ละวันนั้น หนึ่งนาทีของวันไม่ได้ผ่านไปง่ายๆ เราต่างยากลำบากในการขับเคลื่อนตัวเองให้เดินหน้าไปสู่จุดหมายข้างหน้า

พูดถึงจุดหมายข้างหน้า? ชีวิตของคนส่วนใหญ่หมุนไปสู่ความหวังกันทุกคนหรือเปล่า? ผมคิดว่าไม่นะ หลายคนอาจไม่ได้มีเป้าหมายใหญ่เพียงพอสำหรับตัวอง ไม่รู้ว่าอนาคตจะพาเราไปสู่จุดไหน บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการมีเป้าหมายใหญ่ๆ นั้นมันมีหน้าตาอย่างไร และเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความหวังใหญ่โตรออยู่ เราจึงได้แต่อาศัยฟันเฟืองเล็กๆ จากชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงของเหลวในหัวใจให้ยังไหลเวียนสะดวก

แต่ชีวิตประจำวันอันซ้ำซากและปกติสิ้นดีนั่นเองที่ทำให้ผมสงสัยว่าเราพอใจกับการใช้ชีวิตมากน้อยแค่ไหน ผมไม่เถียงว่าความเรียบง่าย ความคุ้นเคย ก็นำพาความสงบกระทั่งความสุขอีกแบบมาสู่ตัวเราได้ แต่ในความเป็นมนุษย์แล้ว วิญญาณของเราใช่ไหม ที่ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะของการค้นหาความหมาย ค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่จะยกระดับตัวตนของเราขึ้นมาตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ

ดังนั้นในความปกติของยี่สิบสี่ชั่วโมง ผมก็หวังว่าจะมีสักหนึ่งหรือสองในนั้นที่เกิดความผิดปกติขึ้น

ในขณะที่เรานิ่งเฉย มืออันซุกซนของเราอาจเผลอ (อย่างตั้งใจ) ที่จะโทรศัพท์หาคนที่ไม่คุ้ยเคย หรือแอดอีเมล์ของคนที่ไม่รู้จักเข้ามาในลิสต์ กระทั่งเขียนบล็อก เพราะหวังว่าจะมีอะไรบางอย่างหรือใครบางคนมากระทบตัวตนด้านในของเรา เราอาจไปเดินเล่นในสถานที่ที่เราไม่เคยนึกว่าจะไป เพื่อรับรู้ถึงเสียงลมหายใจของคนถิ่นอื่น เราใช้เวลาตัดสินใจสั้นๆ ที่จะแลกเปลี่ยนบทสนทนาอันยาวนานกับคนที่เราถูกชะตาแต่ไม่คุ้นหน้า ผมคิดว่าใครหลายคนได้ลงมือทำสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว และผมเชื่อว่าส่วนน้อยเท่านั้นที่จะรับอะไรดีๆ กลับมา ส่วนใหญ่น่าจะได้รับความว่างเปล่า หรืออาการประดักประเดิกเป็นของติดมือเสียมากกว่า เพราะว่าในชีวิตประจำวันไม่ได้มีโชคดีเกิดขึ้นได้บ่อยๆ

แน่นอน แม้ว่าเราจะเสียแรงและเวลาน้อยนิดในการลงมือ แต่ความผิดหวังก็ให้รสชาติเข้มข้นอยู่ดี มันเป็นความผิดหวังที่ไม่ได้มีต้นทางมาจากความคาดหวังอันชัดเจน แต่เป็นความรู้สึกพลาดหวังจากการที่เราพยายามจะต่อติดกับโลกที่สังกัดอยู่ จากนั้นเราก็จะกลับมารักษาวงจรชีวิตประจำวัน (อันน่าเบื่อ) ของเราอีกครั้ง ปิดประตู ลงกลอน ประหนึ่งว่าจะไม่ออกไปไหนอีก แต่สุดท้ายแล้วเมื่อหายแสบคัน เราก็พร้อมที่จะแหย่เท้าไปควานหาความผิดปกติอีก

เราจะเรียกวงจรนี้ว่าความโศกเศร้าของชีวิตได้ไหม?

ผมนึกถึงคำพูดของ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพชื่อดังชาวออสเตรเลีย ที่พูดถึงตัวละครที่เขาถ่ายในหนังของ หว่อง กา ไว ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้มีวิถีชีวิตซ้ำๆ หรือขังตัวเองอยู่ในโลกส่วนตัว เพราะความหดหู่ เศร้าหมอง

"ผมไม่คิดว่าตัวละครมีความเศร้าโศก ผมคิดว่าพวกเขากำลังมองหามากกว่า พวกเขามองหาอะไรบางอย่างอยู่เสมอแต่ยังไม่เจอ ถ้าคุณคิดว่านี่คือความหดหู่ ความเสียใจ ผมว่าคุณเข้าใจชีวิตผิดแล้วล่ะ" *

มองหาอะไรบางอย่างอยู่เสมอ... แต่ยังไม่เจอ
เย็นวันนั้นฝนตั้งท่าว่าจะตก แต่ก็ไม่ตกจริงๆ ด้วยล่ะ

....................................
* (บทสัมภาษณ์ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ จากนิตยสาร mars ฉบับไหนก็ไม่รู้ ลืมแล้ว)

3 Comments:

  • At 2:20 AM, Blogger the aesthetics of loneliness said…

    ผมว่ามันเป็นความหวังที่ริบหรี่มาก ถ้าเราจะรอให้ความผิดปกติเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน มาดลบันดาลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงกับชีวิต
    ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเหตุปัจจัยต่างๆ สารพัด มันถึงพร้อมแล้ว ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะเราลองสุ่มทำอะไรแปลกๆ เพียงแค่เล็กน้อยต่อวัน
    ไปๆ มาๆ นะ ผมว่าความทุกข์จากความไร้จุดหมายของชีวิต บางทีอาจจะเป็นทุกข์น้อยกว่า ความทุกข์จากการรอความหวังอันริบหรี่แบบนี้ด้วยซ้ำ

     
  • At 11:22 PM, Anonymous Anonymous said…

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะ

     
  • At 2:26 AM, Anonymous Anonymous said…

    ขอบคุณมากเลยนะครับ สำหรับบทความ

     

Post a Comment

<< Home